1.6.54

CHICOP โรงแรมจอมรักษ์โลก

chumbe-island-zanzibar-1.jpgแนวปะการังอันงดงามบนเกาะซานซิบาร์ (Zanzibar) เมืองที่มีชื่อเสียงของประเทศแทนซาเนีย เป็นสถานที่ในฝันของผู้หลงใหลธรรมชาติใต้ท้องทะเลทั่วโลกว่าสักวันหนึ่งจะไปให้ได้ แต่มันสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่าล่ะ Helen Bishop บอกว่าเธอได้ประสบการณ์จากสวรรค์แห่งนี้ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเธอไปตลอดกาล

'AMAZING มหัศจรรย์ สุดยอด' คำพวกนี้ออกมาจากปากของเธอเยอะมากในระหว่างเดินทางท่องเที่ยวไปถึง Chumbe Island Coral Park ในวันนั้น

Chumbe Island Coral Park (CHICOP) อยู่ห่างจากตัวเมืองซานซิบาร์ 8 กิโลเมตร เป็นโรงแรมที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ในแง่ของการประหยัดน้ำและพลังงาน CHICOP เป็นอีกหนึ่งธุรกิจเพื่อสังคมซึ่งมีความยั่งยืนในตัว โดยนำรายได้คืนกลับมาสนับสนุนพัฒนาการศึกษาวิจัยและอนุรักษ์ของโรงแรม ครั้งหนึ่งซานซิบาร์เคยเป็นพื้นที่ทำประมงที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาตะวันออก แต่เมื่อปี 1992 หลังจากการรณรงค์ของ CHICOP แนวปะการังฝั่งตะวันตกของเกาะ Chumbe ก็ถูกห้ามทำประมงและแสวงประโยชน์อีกต่อไป แล้วรัฐก็ประกาศให้ Chumbe เป็นเขตสงวนอย่างเป็นทางการในปี 1994

เกาะ Chumbe จำกัดให้เข้าชมได้เพียงวันละไม่เกิน 14 คน เพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์เราไปสร้างผลกระทบต่อธรรมชาติที่นี่ Godfray ผู้จัดการโรงแรม CHICOP นำกลุ่มของเฮเลน เดินชมทัศนียภาพอันสวยงามน่าทึ่งโดยรอบ โปรแกรมวันนี้คือ 11.00 น. – ดำน้ำตื้น, 13.00 น. – ทานบุฟเฟต์มื้อกลางวัน, 15.00 – เดินป่า และ 16.00 – นั่งเรือกลับไปยังแผ่นดินใหญ่... (เศร้า...ไม่อยากกลับ)

แม้ได้เที่ยวเพียงวันเดียว แต่พวกเธอกลับได้ประสบการณ์อันมีค่ามากมาย CHICOP มีบังกะโลแบบ eco ที่มีระบบนิเวศที่ดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหมด 7 หลัง แต่ละหลังใช้ไฟฟ้า เครื่องทำน้ำอุ่น จากพลังงานสะอาดอย่างแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บน้ำฝนของโรงแรม ส่วนที่เฮเลนถูกใจมากที่สุดคือ Compost toilet (http://en.wikipedia.org/wiki/Composting_toilet) หรือห้องสุขาระบบย่อยสลายได้เร็วกว่าแบบธรรมดา ซึ่งใช้น้ำในปริมาณน้อย หรือไม่ใช้เลย คุณจะทำธุระไปพร้อมกับเปิดชมวิวสวยๆ ก็ยังได้

CHICOP เป็นหนึ่งในสวนปะการังที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก มีปะการังมากกว่า 200 ชนิด (ประมาณ 90% ของสายพันธุ์แอฟริกาตะวันออกทั้งหมด) และปลาอีกราว 400 ชนิด เพียงได้ดำน้ำที่นี่จึงรู้สึกเหมือนหลุดออกไปอีกโลกหนึ่งทีเดียว พายเรือเล่นที่นี่ 2 ชั่วโมงก็ประเดี๋ยวประด๋าวราวครึ่งชั่วโมง และแน่นอนว่าไม่มีผิดหวังกับอาหารกลางวันสดๆ อย่างปลา สลัด ผัก น้ำผลไม้

เกาะ Chumbe ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าไม้และเศษปะการังที่สวยงามซึ่งมีความหลากหลายของพืชและสัตว์มากมาย รวมทั้งปูมะพร้าวที่หายาก เจ้าหน้าที่บนเกาะทั้งหมดดูจะเข้าใจธรรมชาติที่นี่เป็นอย่างดีและดูมีความสุขในการทำงานมาก

เฮเลนบอกว่า แม้เธอจะรู้เรื่องความรักและชีวิตไม่มากนัก แต่หนึ่งวันบน Chumbe Island Coral Park เธอก็ดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในการทำดีอนุรักษ์ธรรมชาติอันสวยงามของสวรรค์แห่งนี้


ความสำเร็จของ CHICOP

การให้ความรู้ – แต่ละปีมีนักเรียนในท้องถิ่น 350 คนและครู 50 คน ได้เข้าเยี่ยมชมเกาะ Chumbe เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและการอนุรักษ์ ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการจัดโปรแกรมนี้ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสำหรับโรงเรียนในซานซิบาร์

การอนุรักษ์ – การรื้อฟื้นละมั่งสายพันธุ์ Ader’s duiker ได้ในปี 2000 หลังจากโดนล่าจนสูญพันธุ์ไปเมื่อปี 1950


ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.chumbeisland.com

ข้อมูลจาก นิตยสาร SOCIAL ENTERPRISE ฉบับที่ 90 เดือนกันยายน 2010 www.socialenterpriselive.com